Sunday, October 18, 2015

แม่-ลูกเปิดแอร์นอนในรถดับ ตำรวจรอผลชันสูตร เตือนอันตราย !





            ตำรวจรอผลชันสูตรคดี 2 แม่-ลูกเปิดแอร์นอนหลับในรถเสียชีวิต คาด ขาดอากาศหายใจ ด้านแพทย์-นักวิชาการ ออกโรงเตือนสตาร์ทเครื่องนอนในรถอันตรายถึงชีวิต เพราะสูดก๊าซพิษเข้าร่างกายจนสลบได้แบบไม่รู้ตัว

            จากกรณี นางสุทธิดา สกุลเอี้ยง อายุ 49 ปี และ ด.ช.กัมปนาท ดุสดี อายุ 5 ขวบ เข้าไปนอนพักในรถที่จอดติดเครื่องเปิดแอร์อยู่ย่านโชคชัย 4 กระทั่งอีก 1 ชั่วโมงให้หลัง นายบุญนำ ดุสดี อายุ 60 ปี สามีเดินมาพบว่าทั้งสองคนหมดสติ ปลุกไม่ตื่น จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตนั้น

            เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 พ.ต.อ. ชัยรพ จุณณวัฒน์ ผู้กำกับสน.โชคชัย กล่าวถึงความคืบหน้าว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พบร่องรอยการต่อสู้ และได้ส่งศพไปชันสูตรศพที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว

            ส่วนรถคันเกิดเหตุได้นำมาไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ กองพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจพิสูจน์กลไกระบบการทำงานของรถ ว่าขณะนั้นการทำงานของเครื่องยนต์มีความผิดปกติหรือไม่ ทั้งนี้จากการสันนิษฐานว่าทั้งสองคนน่าจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ จึงขอเตือนประชาชนอย่าเปิดแอร์ทิ้งไว้ในขณะนอนหลับบนรถ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

            ด้าน พล.ต.ต. นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ในการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของคนที่นอนในรถเสียชีวิตนั้น ในทางวิทยาศาสตร์จะต้องแยกสภาพทางร่างกายก่อน หากไม่มี จะดูจากสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซจากท่อไอเสีย ซึ่งถ้าเราสตาร์ทรถยนต์ จะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมาในช่วงที่รถยนต์ทำงาน ซึ่งก๊าซนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หากสูดดมเข้าไปจะรู้สึกง่วงซึม เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง และเมื่อหลับลึกมากขึ้น ออกซิเจนลดลงทำให้เสียชีวิตได้

            ขณะที่ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า คนนอนในรถเสียชีวิตส่วนใหญ่เพราะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ของ เครื่องยนต์ที่ติดอยู่รั่วเข้ามา และการเปิดแอร์จะทำให้อากาศหมุนเวียนอยู่ในรถ เราจะยิ่งสูดดมเข้าไปเรื่อย ๆ จนไม่รู้ตัว เพราะก๊าซนี้ไม่มีกลิ่น จากนั้นเราจะรู้สึกง่วงซึมจนสลบไป ถือเป็นความโชคร้ายมาก เพราะหากเปิดแง้มหน้าต่างไว้บ้างก็จะช่วยระบายก๊าซออกไปได้


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
จส.100, จส.100, เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
http://hilight.kapook.com/view/127942

No comments:

Post a Comment