Saturday, October 24, 2015

เผยภาพ "เชอร์โนบิล" ดินแดนแห่งสรรพสัตว์ ท่ามกลางกัมมันตภาพรังสี





          ใครเลยจะไปคิดว่า เมืองร้างซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดภัยพิบัติช็อกโลก และบัดนี้ไม่มีวี่แววของมนุษย์ใด ๆ จะกลายเป็นแดนสวรรค์สำหรับบรรดาสัตว์ป่า ที่พากันไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเชอร์โนบิลอย่างสบายอกสบายใจ ไม่มีมนุษย์หน้าไหนมารบกวน

          มหันตภัยเชอร์โนบิล เป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล นิคมเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของประเทศยูเครน อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลนี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงาน นิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของค่าใช้จ่ายและชีวิต

          ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น มีผู้เสียชีวิตทันที่ 31 ราย และผลกระทบระยะยาวเช่นมะเร็งอยู่ระหว่างการสืบสวน มีการประมาณการว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรงมากกว่า 600,000 คน แต่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการสัมผัสกัมมันตรังสีอาจสูงถึง 4,000 คน




         ประชาชนนับแสนคนต้องอพยพออกจาก พื้นที่บ้านเกิดโดยด่วน หลังการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้กัมมันตรังสีจำนวนมากปกคลุมไปในบรรยากาศทั่วบริเวณเมือง


          จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว เมืองเชอร์โนบิลก็ยังคงถูกทิ้งร้างเอาไว้ในสภาพเดิม มันกลายเป็นเมืองที่มนุษย์ขยาดและไม่กล้าเข้าใกล้ แต่ไม่ใช่กับบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย ที่เริ่มทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันในบริเวณนี้




         ทีมงานนักวิจัยพบว่า มีกวางมูส กวาง หมูป่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงสัตว์ปีกอื่น ๆ อีกจำนวนมากอาศัยอยู่ในเมืองเชอร์โนบิลและบริเวณรอบ ๆ เมือง พวกมันล้วนอ้วนท้วนและมีสุขภาพแข็งแรงดี แม้จะอาศัยอยู่ในบริเวณอันตรายจากกัมมันตรังสีก็ตาม


          โดยผลการศึกษาและวิจัยระบุว่า สัตว์ป่าต่าง ๆ ในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ดี ซึ่งไม่สัมพันธ์กับปริมาณกัมมันตรังสีในบริเวณ และลักษณะโดยทั่วไปของพวกมันก็ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์ป่าในบริเวณใกล้เคียง อย่างประเทศเบลารุส นอกจากนี้ จำนวนประชากรสัตว์ป่าก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรักษาระดับทรงตัวแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา


 
          ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังรู้สึกทึ่งมากที่พบว่า จำนวนประชากรของหมาป่าในบริเวณเชอร์โนบิล สูงกว่าจำนวนหมาป่าในบริเวณใกล้เคียงกันถึง 7 เท่า


        “สิ่งนี้ระบุได้ชัดว่า ถึงแม้กัมมันตรังสีอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าบ้าง แต่ก็ไม่ทำอันตรายใด ๆ ต่อสัตว์ป่าได้เท่ากับผลกระทบจากมนุษย์อยู่ดี เราไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าที่นั่นไม่มีอันตรายจากกัมมันตรังสี แต่เราไม่พบว่ากัมมันตรังสีที่หลงเหลืออยู่นั้นได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า จอห์น สมิธ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท กล่าว

 
          ด้าน บิล ลอวเรนซ์ จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก กล่าวว่า “ผล การวิจัยจากเชอร์โนบิล แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติจะเจริญเติบโตและงอกงามได้ หากไม่มีมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยว สิ่งนี้สามารถตอกย้ำถึงความสำคัญของการรณรงค์ให้เกิดพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์ ใด ๆ อยู่เลย


 
                อย่างไรก็ดี ทางด้าน ทิโมธี มอสโซว ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยเซาธ์แคโรไลนา ผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประชากรสัตว์ป่าในแถบเชอร์โนบิลมาหลายสิบปี ได้กล่าวแย้งต่อผลการวิจัยดังกล่าวว่า รายงานนี้ศึกษาในวงแคบเกินไป ไม่ได้มีการจัดกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม และไม่ระบุถึงผลกระทบระยะยาวของกัมมันตรังสีที่อาจเกิดในสัตว์ป่า นอกจากนี้ ประชากรสัตว์ป่าในเชอร์โนบิลเอง ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าประชากรสัตว์ชนิดเดียวกันในทวีปยุโรปแต่อย่างใด เพราะมีการตั้งกฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่าให้พ้นจากเงื้อมมือนักล่าสัตว์ รวมถึงไม่มีกัมมันตรังสีที่อาจทำอันตรายต่อชีวิตเหมือนกับสัตว์ป่าที่เชอร์โนบิลด้วย

              ทิโมธีระบุต่อไปว่า รายงานส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การศึกษาประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ซึ่งปกติมักจะถูกล่าเป็นประจำโดยมนุษย์ แต่สัตว์ป่าเหล่านี้สามารถเจริญพันธุ์และแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งเคยมีการห้ามล่าสัตว์ในจุดที่อนุญาตให้ล่า ผลปรากฏว่าประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นจนล้นป่าอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการอนุญาตล่าสัตว์ประเภทนี้ เพื่อรักษาระดับประชากรสัตว์ป่าให้คงที่



          “รายงาน ที่พวกเขาเขียนนั้นจะเรียกว่าเป็นเท็จก็ได้ ใครก็ตามที่เคยเหยียบไปใกล้เชอร์โนบิลจะรู้ดีว่า แถบนั้นเป็นที่รกร้างและแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ รายงานนี้เขียนด้วยความคิดในแง่ดีเกินไป และเห็นได้ชัดว่าผู้เขียนกำลังทรมานกับการหลอกตัวเองให้เขียนในสิ่งที่เขา อยากจะเห็น ศาสตราจารย์ทิโมธีกล่าว


ภาพจาก Valeriy Yurko, Valeriy Lukashevitch, Tatyana Deryabina
http://hilight.kapook.com/view/128155

No comments:

Post a Comment